อาหารที่เราต้องกินกันอยู่ทุกวันนี้ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาโรคเบาหวาน ซึ่งคนเป็นเบาหวานมักจะละเลยในเรื่องของอาหารการกิน โดยอาจคิดว่าเมื่อได้กินยาแล้ว คงหายเหมือนกับโรคทั่วไป ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด

เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่หายขาด ซึ่งการใช้ยารักษาเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้ ดังนั้น การควบคุมอาหารและรู้จักเลือกกินอาหารที่เหมาะสม ในปริมาณที่ถูกสัดส่วนกับความต้องการของร่างกาย ก็ถือเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาและป้องกันโรคเบาหวานได้

หัวใจสำคัญของการควบคุมเบาหวาน คือ การกินอาหารให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย โดยไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะการกินที่มากเกินจะทำให้น้ำตาลขึ้นสูงหรือขึ้นเร็ว ในขณะเดียวกันหากกินน้อยไป อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตรายได้download

 

ความจริงแล้วหลักการกินอาหารสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ไม่ได้แตกต่างจากหลักการกิน เพื่อให้มีสุขภาพดีของคนทั่วไป เป็นการกินอาหารให้ครบหมู่ ถูกสัดส่วน ในปริมาณพอเหมาะ และมีความหลากหลาย

โดยอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานแบ่งง่ายๆ เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.อาหารที่ “ไม่ควร” รับประทาน

น้ำตาลทุกชนิด เช่น น้ำตาลอ้อย น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลก้อน น้ำผึ้ง เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม เช่น น้ำเก๊กฮวย น้ำลำไย ชาเขียว น้ำอัดลม ชา กาแฟปรุงสำเร็จ และขนมหวานต่างๆ เค้ก คุกกี้ โดนัท

 

 

ผลิตภัณฑ์นม ได้แก่ นมข้นหวาน นมปรุงแต่งรสหวาน โยเกิร์ตปรุงแต่งรสชาติ นมเปรี้ยวthaihealth_c_egikmouv1248

ผลไม้กวน ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้เชื่อม ผลไม้ตากแห้ง เช่น กล้วยตาก ลูกเกด ลูกพลับ ลูกพรุน อินทผลัมตากแห้ง รวมถึงผลไม้ในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง

อาหารที่ปรุงด้วยไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันสัตว์ ไส้กรอก หมูสามชั้น น้ำมันมะพร้าว แกงกะทิ ไขมันนม เนย ครีม

เนื่องจากอาหารเหล่านี้ มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นรวดเร็ว ซึ่งเป็นอันตรายจึงควรหลีกเลี่ยง

 

2.อาหารที่รับประทานได้ “ไม่จำกัดปริมาณ”

ผักก้าน ผักใบ ผักใบเขียวทุกชนิด ควรรับประทานทุกวัน และทุกมื้อให้หลากหลายชนิดในหนึ่งวัน อาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่แคลอรี่ต่ำ และมีใยอาหารสูง ทำให้การดูดซึมน้ำตาลช้าลง อีกทั้งใยอาหารยังช่วยดูดซับน้ำตาล ไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือดเร็วเกินไป ทำให้ร่างกายสามารถดึงน้ำตาลไปใช้ได้พอดี ได้แก่ ผักกาด คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ตำลึง บวบ มะเขือ ฟัก แตงกวา น้ำเต้า ถั่วฝักยาว ถั่วงอก เป็นต้น จะรับประทานในรูปของผักสด หรือผักต้มก็ได้ แต่ไม่แนะนำในรูปของน้ำผักปั่น โดยเฉพาะน้ำผักปั่นแยกกาก ทำให้เราได้รับใยอาหารไม่ได้มากเท่าที่ควร

 

 

3.อาหารที่รับประทานได้ แต่ต้อง “จำกัดปริมาณ”

อาหารประเภทข้าว แป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง เผือก มัน ฯลฯ อาหารเหล่านี้มีคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าน้ำตาล และมีโปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหารที่จำเป็นแก่ร่างกาย โดยอาหารจำพวกแป้งจะถูกย่อยเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาล และเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย ผู้เป็นโรคเบาหวานจึงไม่ควรงดหรือจำกัดจนเกินไป ควรได้รับให้เหมาะสมกับแรงงานและกิจกรรมที่ทำ การจำกัดข้าวหรือแป้งมากเกินไปกลับเป็นผลเสีย เพราะระดับน้ำตาลในเลือดอาจต่ำ เกิดอาการหิว ส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้original-1408362131695

ผลไม้ ผลไม้แต่ละชนิดจะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตแตกต่างกัน ซึ่งคาร์โบไฮเดรตในผลไม้อยู่ในรูปแบบของน้ำตาล โดยผลไม้บางชนิดมีน้ำตาลมาก เช่น ทุเรียนมีน้ำตาลประมาณ 30 – 35% ส้มมีน้ำตาลประมาณ 10% และมะขามหวาน มีน้ำตาลมากถึง 75 – 80% ซึ่งผลไม้ยิ่งหวานมาก ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่น ลำไย ทุเรียน มะม่วงสุก องุ่น เป็นต้น

ถึงแม้ว่าผลไม้จะมีน้ำตาล แต่ก็ยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงไม่ควรงด แต่ควรกินตามปริมาณที่กำหนด โดยแนะนำว่าสามารถกินได้วันละ 2-3 มื้อ ในปริมาณ 7-8 ชิ้น คำ/มื้อ

การจะควบคุมโรคเบาหวานให้อยู่หมัด จำเป็นต้องลดทั้งหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผัก รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลทั้งหมดนี้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่จะดูแลสุขภาพของเราได้อย่างยั่งยืนที่สุดค่ะ